ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี
ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี
วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ที่ได้เกิดขึ้นภายในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช 2480 เริ่มตั้งแต่เป็นโรงเรียนช่างไม้แล้วพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นเทคนิคอุบลราชธานีในปัจจุบัน เป็นเวลานานถึง 58 ปี มีผู้จบการศึกษาแล้วมากมายหลายรุ่น ได้เป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองตลอดมาจึงจำเป็นต้องมีสมาคมศิษย์เก่าแต่ละรุ่น จะได้มีโอกาสสร้างสรรค์และพัฒนาสถาบันร่วมกัน ให้สามารถเป็นที่พึ่งของสังคมและประเทศชาติมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป
หมวดที่ 1 ชื่อและเครื่องหมาย
ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับของ “สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี. ใช้อักษรย่อของสมาคมว่า “ส.ว.ท.อ.”
ข้อ 2. สมาคมนี้ใช้เข็มเครื่องหมายเป็นรูป พระวิษณุกรรมมือซ้ายถือลูกดิ่ง มือขวาถือไม้ฉากอยู่ตรงกลางรูปฟันเฟือง มีตัวอักษรสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี มีอักษรย่อ ส.ว.ท.อ. หรือมีเครื่องหมายในลักษณะดังกล่าวนี้ในเข็มเดียวกันก็ได้ เครื่องหมายของสมาคมนี้จะปักด้วยไหมหรือดิ้น หรือเป็นโลหะ ฯลฯ สำหรับประดับเสื้อกีฬาของสมาชิกหรือเพื่อกิจกรรมอื่นใด โดยขยายส่วนต่างๆ ของเครื่องหมายให้เหมาะสมกันย่อมได้ ทั้งนี้ต้องให้เป็นไปตามแบบที่สมาคมกำหนดไว้
หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 3. สมาคมตั้งโดยวัตถุประสงค์ต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม วัฒนธรรม ศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามระหว่างศิษย์แต่ละรุ่น
2. เพื่อสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ระหว่างสมาชิกในกรณีอันควร
3. เพื่อส่งเสริมการศึกษาของสถาบันศิษย์เก่า
4. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ อันดีงาม ระหว่างสมาชิกด้วยการสงเคราะห์ การกีฬา การบันเทิง อันชอบด้วยศีลธรรม
5. เพื่อการกุศลสาธารณะอื่นๆ
6. ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด
หมวดที่ 3 ที่ตั้งของสมาคม
ข้อ 4. สมาคมนี้ตั้งอยู่ที่ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เลขที่ 5 ถนนแจ้งสนิท ต.ในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
หมวดที่ 4 ประเภทของสมาชิก
ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลที่เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี หรือครูอาจารย์ในวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี
2. สมาชิกสมทบ ได้แก่บุคคลอื่นที่สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก
3. สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลที่สมาคมเห็นสมควรและเชิญเข้าเป็นสมาชิก
4. ยุวสมาชิก ได้แก่นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานีที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน
หมวดที่ 5 การเข้าเป็นสมาชิกและการขาดสมาชิกภาพ
ข้อ 6. บุคคลที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนี้ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่ยุวสมาชิก
2. เป็นผู้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
3. ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
4. เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
ข้อ 7. การเข้าเป็นสมาชิก
ต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม ต่อเลขานุการ โดยสมาชิกเป็นผู้รับรอง 2 นาย พร้อมกับชำระเงิน (1) ค่าสมัคร 20 บาท และเงินค่าบำรุง 100 บาท ต่อปี สำหรับยุวสมาชิกค่าสมัคร 5 บาท ค่าบำรุง 10 บาทต่อปี (2) ชำระค่าสมัคร 20 บาท และเงินค่าบำรุงตลอดชีพ 1,000 บาท เมื่อชำระค่าสมัครและค่าบำรุงเรียบร้อยแล้วถือว่าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ เว้นแต่จะมีการคัดค้าน การเป็นสมาชิกประกาศโดยสมาคม
การคัดค้านให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงาน จะได้ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และสมาคมประกาศผลให้ทราบ
ข้อ 8. การขาดจากสมาชิกภาพ
1. ตาย
2. ลาออก
3. ขาดคุณสมบัติข้อ 6 และข้อ 7 หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม โดยสมาคมมีมติให้ออกเป็นเอกฉันท์
หมวดที่ 6 ค่าบำรุง
ข้อ 9. สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ เสียค่าบำรุงปีละ 100 บาท และยุวสมาชิกเสียค่าบำรุงปีละ 10 บาท
ข้อ 10. สมาชิกกิตมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าสมัครหรือค่าบำรุง
ข้อ 11. สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ และยุวสมาชิก ต้องเสียเงินค่าบำรุงภายในเดือนมกราคมของทุกๆ ปี
ข้อ 12. สมาชิกผู้ใดมีความประสงค์ที่จะเสียเงินค่าบำรุงครั้งเดียวตลอดชีพ ทำให้ทำได้โดยเสียเงินค่าบำรุงเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท
หมวดที่ 7 การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 13. สมาคมมีรายได้จากเงินค่าบำรุงของสมาชิก การรับบริจาคหรืออื่นๆ
ข้อ 14. การรับเงินค่าบำรุงของสมาชิก เงินบริจาค หรือเงินอื่นๆต้องออกใบเสร็จของสมาคมให้ทุกราย
ข้อ 15. การเก็บรักษาเงิน ให้นำฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่นใด ที่คณะกรรมการดำเนินงานเห็นชอบ
ข้อ 16. การฝากเงินหรือถอนเงิน ให้นายกสมาคมหรือคณะกรรมการดำเนินงานคนใดคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายและเหรัญญิกเป็นผู้ลงชื่อ
ข้อ 17. การจ่ายเงินไม่ว่ากรณีใดๆให้เป็นอำนาจของนายกสมาคมหรือคณะกรรมการดำเนินงานคนใดคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อบังคับ
ข้อ 18. นายกสมาคม มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมหรือก่อหนี้ผูกพันสมาคมในกิจการหนึ่งๆ ได้ไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
ข้อ 19. ให้เหรัญญิกเก็บเงินไว้ได้ไม่เกิน 5,000 บาท เหรัญญิกต้องจัดให้มีบัญชีเงินสด บัญชีรับ-จ่าย และบัญชีอื่นๆ ตลอดจนทำหลักฐานการเงินให้เป็นปัจจุบันและเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย
ข้อ 20. เมื่อสิ้นปีหนึ่งๆ ให้คณะกรรมการดำเนินงาน มีหน้าที่ทำงบดุล และเลือกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่ภายนอกวงการของสมาคม 1 คน เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรายรับ-จ่าย เงินของสมาคมเพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่ต่อไป
ข้อ 21. ให้เลขานุการและนายทะเบียน จัดทำทะเบียนทรัพย์สินต่างๆ ของสมาคมไว้เป็นหลักฐานและอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินงาน
หมวดที่ 8 การดำเนินงานคณะกรรมการดำเนินงานของสมาคม
ข้อ 22. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน และไม่เกิน 25 คน เป็นผู้ดำเนินงานของสมาคม โดยเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกตามมติของที่ประชุมใหญ่
ข้อ 23. คณะกรรมการดำเนินงาน ให้ประกอบไปด้วยตำแหน่งต่อไปนี้
นายก,อุปนายก,เลขานุการ,เหรัญญิก,นายทะเบียน,ปฏิคม,ประชาสัมพันธ์,กรรมการกลาง
ข้อ 24. การเลือกตั้งนายก ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ตำแหน่งกรรมการอื่นๆ ให้เป็นหน้าที่ของนายก เป็นผู้แต่งตั้ง ทั้งนี้จากผู้ได้รับเลือกตั้งใน ข้อ 22
ข้อ 25. คณะกรรมการดำเนินงาน อาจเชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาคม เพื่อแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมาคมได้ ที่ปรึกษานี้มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมแต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง และให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาของคณะกรรมการดำเนินงานชุดนั้น ตามข้อ 28
ข้อ 26. กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งใดว่างลงในระหว่างกาลเห็นสมควรจัดตั้งกรรมการใหม่ขึ้นแทนก็ให้นายกสมาคมตั้งกรรมการกลางผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นรับตำแหน่งแทนได้เฉพาะเวลาที่ยังเหลืออยู่
ข้อ 27. กรรมการดำเนินงาน เว้นแต่ตำแหน่งนายกและอุปนายก มีสิทธิ์ที่จะเสนอตั้งสมาชิกเป็นผู้ช่วยได้ไม่เกิน 2 คน โดยได้รับอนุญาตจากที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานแต่ผู้ช่วยไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการ
ข้อ 28. คณะกรรมการดำเนินงาน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินงานชุดเก่า ดำเนินงานต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
ข้อ 29. คณะกรรมการดำเนินงาน เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้ง จนถึงคณะกรรมการดำเนินงานชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่งแทน และต้องส่งงานให้คณะกรรมการดำเนินงานชุดใหม่ให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 30 วัน
ข้อ 30. กรรมการดำเนินงานชุดเก่า คนใดคนหนึ่งที่พ้นตำแหน่งหน้าที่ไป อาจได้รับเลือกตั้งอีกก็ได้ (กรณีพ้นจากตำแหน่งคือ กรณีจากหมวด 5 ข้อ 8)
ข้อ 31. คณะกรรมการดำเนินงาน มีสิทธิ์ที่จะตั้งบุคคลภายนอกเป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินกิจการของสมาคมเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นคราวๆไป
หมวดที่ 9 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินงาน
ข้อ 32. คณะกรรมการดำเนินงาน มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 33. คณะกรรมการดำเนินงาน มีอำนาจออกคำสั่ง หรือวางระเบียบเพื่อความเจริญเรียบร้อยของสมาคม จักต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกที่ประชุม
หมวดที่ 10 การประชุม
ข้อ 34. ให้จัดให้มีการประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนมกราคมของทุกปีในการประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 35. ในการประชุมใหญ่ประจำปีให้คณะกรรมการดำเนินงานแถลงกิจการของสมาคม ที่ได้กระทำมาในรอบปี ให้ผู้เข้าประชุมใหญ่ทราบ
ข้อ 36. ถ้ามีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 20 คน เข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใดแล้ว ให้นายกเรียกประชุมได้ภายใน 14 วัน และต้องมีสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 40 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม ได้
ข้อ 37. ในการ ลงมติของที่ประชุมสมาชิก ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้เป็นอย่างอื่น สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานลงคะแนนเสียงชี้ขาด
ข้อ 38. ถ้ามีเหตุจำเป็นด่วน ที่คณะกรรมการดำเนินงานเห็นสมควรจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ก็ให้นายกสมาคมเรียกประชุมได้และต้องมีสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม
ข้อ 39. ในการประชุมสมาชิก ให้นายกสมาคมเป็นประธานการประชุม ถ้านายกไม่อยู่ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าไม่อยู่ทั้งสองคนให้ที่ประชุมเลือกกรรมการดำเนินงานผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานแทนชั่วคราวเฉพาะการประชุมนั้น
ข้อ 40. วัน เวลา และสถานที่ประชุมทุกคราว ให้นายกสมาคมหรือผู้ที่ได้มอบหมายเป็นผู้กำหนด
ข้อ 41. ให้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคม ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แล้วแต่นายกสมาคม จะกำหนดนัดหมายและต้องมีกรรมการดำเนินงานมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการดำเนินงานทั้งหมด จึงจะนับเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 42. การประชุมคณะกรรมการดำเนินงานก็ดี การประชุมใหญ่ประจำปีก็ดี หรือการประชุมวิสามัญก็ดี ให้บันทึกรายงานการประชุมแต่ละครั้งไว้เป็นหลักฐาน
หมวดที่ 11 เบ็ดเตล็ด
ข้อ 43. เมื่อสมาคมต้องเลิกล้มด้วยประการใด ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมตกเป็นสมบัติกรมอาชีวศึกษาเพื่อใช้ในกิจการของวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี
ข้อ 44. สมาคมนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางการเมืองหรือพรรคการเมือง
ข้อ 45. ข้อความใดมิได้ปรากฏในข้อบังคับนี้ หรือถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการดำเนินงานเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด โดยใช้มติ 2 ใน 3 ของกรรมการผู้เข้าประชุม